เกี่ยวกับส่วนงาน
สำนักทะเบียนและวัดผล
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ประวัติความเป็นมา
สำนักทะเบียนและวัดผล เป็นหน่วยงานระดับสำนักของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ดำเนินการจัดตั้งขึ้นเมื่อ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๙๙ ซึ่งเป็นแผนก ๑ ใน ๖ แผนก ที่สังกัดอยู่ในสำนักเลขาธิการ ของการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยในสมัยนั้น คือ แผนกบาลีอุดมศึกษาคณะพุทธศาสตร์ แผนกบาลีเตรียมอุดมศึกษา แผนกบาลีอบรมศึกษา แผนกบาลีมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนกบาลีมัธยมศึกษาตอนต้น และสำนักงานเลขาธิการ และเมื่อปี ๒๕๑๒ ได้มีนิสิตเพิ่มมากขึ้นได้แยกออกมาเป็น “แผนกทะเบียน” สังกัดกองกลาง
เมื่อปี ๒๕๒๖ ได้มีข้อบังคับมหาวิทยาลัย ว่าด้วยการศึกษาขั้นปริญญาตรีให้ “แผนกทะเบียน” เป็น “สำนักทะเบียนและวัดผล” ยกฐานะหัวหน้าแผนก เป็นผู้อำนวยการ ซึ่งอยู่ในสังกัดสำนักงานเลขาธิการ
เมื่อปี ๒๕๓๐ ได้มีประกาศการแบ่งส่วนงานของมหาวิทยาลัยให้สำนักทะเบียนและวัดผลขึ้นตรงต่อสำนักงานอธิการบดี โดยผ่านรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และแบ่งงานเป็น ๒ ฝ่าย คือ ๑. ฝ่ายทะเบียนนิสิต ๒. ฝ่ายวัดผลการศึกษา รับผิดชอบงานทะเบียนและวัดผล ทั้งส่วนกลาง วิทยายาเขต และบัณฑิตวิทยาลัย
เมื่อปี ๒๕๔๐ มหาวิทยาลัยได้มีพระราชบัญญัติ พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้มีการยุบเลิกหน่วยงานเดิมจาก สำนักทะเบียนและวัดผล เป็นกองทะเบียนและวัดผล ให้สอดคล้องกับการจัดตั้งส่วนงานและการแบ่งส่วนงานที่ได้จัดทำเป็นข้อกำหนด และประกาศของมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๑ ให้กองทะเบียนและวัดผล ไปสังกัดอยู่ในส่วนงาน สำนักอธิการบดี กองที่ ๔ แบ่งส่วนงานภายในออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายทะเบียนนิสิต และฝ่ายประเมินผลการศึกษา
เมื่อปี ๒๕๔๕ สภามหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งมหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำระบบทะเบียนและวัดผลโดยให้คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินการจัดทำร่างระบบทะเบียนและวัดผลของมหาวิทยาลัยทุกระดับ และได้ดำเนินการจัดทำระบบทะเบียนเสร็จอนุมัติให้ใช้ระบบทะเบียนและวัดผล เมื่อปี ๒๕๔๗ สามารถรองรับงานทะเบียนทั้งส่วนกลาง วิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ ห้องเรียน หน่วยวิทยบริการ และสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๕๕๖ มหาวิทยาลัยได้มีมติอนุมัติให้ยกฐานะกองทะเบียนและวัดผลเป็นสำนักทะเบียนและวัดผล ในคราวประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๕๖ เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๖ โดยให้มีส่วนงานระดับส่วน ๒ ส่วน คือ
๑. ส่วนทะเบียนนิสิต มี ๓ ฝ่าย คือ ๑. ฝ่ายบริหารงานทั่วไป ๒. ฝ่ายรับเข้าศึกษา ๓. ฝ่ายทะเบียนนิสิตและสถิติการศึกษา
๒. ส่วนประเมินผลการศึกษา มี ๒ ฝ่าย คือ ๑. ฝ่ายการเรียนการสอนและการสอบ ๒. ฝ่ายประมวลผลการศึกษา
วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสำนักทะเบียนและวัดผล ต้องการให้ศูนย์ข้อมูลทางการศึกษาในงานที่เกี่ยวข้องกับงานทะเบียนและสถิติการศึกษาของนิสิต และการวัดและประเมินผลการศึกษา เพื่อให้สามารถนำข้อมูลที่ได้จากดำเนินการนั้นไปใช้ในการวางแผนการบริหารและการพัฒนาทางวิชาการของมหาวิทยาลัย
ในปัจจุบัน บทบาทและภาระหน้าที่ของสำนักทะเบียนและวัดผลที่เกี่ยวกับงานดังกล่าวต้องดำเนินการให้ชัดเจน โดยเฉพาะภาระงานในการดำเนินงานลงทะเบียนเรียน การจัดทำรายงาน และการประมวลผลข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนเรียนของนิสิต และการจัดการระบบฐานข้อมูลนิสิตนั้น ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นส่วนงานที่รับผิดชอบดูแลแทนสำนักทะเบียนและวัดผล เนื่องจากสำนักทะเบียนและวัดผลยังขาดทีมงานบุคลากรที่มีทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในรูปของคณะผู้ปฏิบัติเข้าพัฒนาระบบภายในสำนักงาน ส่วนใหญ่อาศัยทักษะและประสบการณ์ที่เกี่ยวกับงานในความรับผิดชอบที่ผ่านมาเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจการดำเนินงานต่าง ๆ
ผู้บริหารสำนักทะเบียนและวัดผล ตั้งแต่อดีต – ปัจจุบัน
๑. พระมหาบุญมา มหาวีโร เป็นนายทะเบียน (๒๔๙๙ – ๒๕๐๐)
๒. พระมหาภาณุ ปทุโม เป็นนายทะเบียน (๒๕๐๐ – ๒๕๑๒)
๓. พระมหาภาณุ ปทุโม เป็นผู้รักษาการแผนกทะเบียน (๒๕๑๒ – ๒๕๑๖)
๔. พระมหาคำนึง รตินฺธโร เป็นหัวหน้าแผนกทะเบียน (๒๕๑๖ – ๒๕๒๓)
๕. พระศรัณย์ เขมธมฺโม เป็นรักษาการหัวหน้าแผนกทะเบียน (๒๕๓๒ – ๒๕๒๕)
๖. พระมหาคำนึง รตินฺธโร เป็นผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและวัดผล (๒๕๒๖)
๗. พระมหาประพัฒน์ ฐานุตฺตโม เป็นผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและวัดผล (๒๕๒๖ – ๒๕๔๐)
๘. พระมหาขุนทอง สุวณฺณเมโธ เป็นผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและวัดผล (๒๕๔๐ – ๒๕๔๑)
๙. พระมหาขุนทอง สุวณฺณเมโธ เป็น รก.ผู้อำนวยการกองทะเบียนและวัดผล (๒๕๔๑ -๒๕๔๕)
๑๐. พระครูวินัยธรสมุทร ถาวรธมฺโม เป็น รก.ผู้อำนวยการกองทะเบียนและวัดผล (๒๕๔๕ – ๒๕๕๕)
๑๑. พระครูวินัยธรสมุทร ถาวรธมฺโม เป็น รก.ผู้อำนวยการสำนักทะเบีนและวัดผล (๒๕๕๖ – ๒๕๕๙)
๑๒. พระมหาถวิล กลฺยาณธมฺโม เป็น ผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและวัดผล (๒๕๕๙ – ปัจจุบัน)
ปรัชญา
พัฒนาการวัดและประเมินผลให้มีประสิทธิภาพ ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องโปร่งใส โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และให้เป็นศูนย์กลางการผลิตบัณฑิตทางพระพุทธศาสนาที่มีคุณภาพ
ปณิธาน
มุ่งสร้างความประทับใจในการให้บริการด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง ยิ้มแย้มแจ่มใส โดยยึดหลักความซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมุ่งเน้นการพัฒนาองค์กรที่เป็นมาตรฐานสากล
วิสัยทัศน์
สนับสนุน ส่งเสริม ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย มุ่งมั่นให้บริการ ด้วยความสะดวกรวดเร็วถูกต้องและมีประสิทธิภาพ และให้เป็นศูนย์กลางการให้บริการที่มีความเป็นเลิศด้วยข้อมูลที่ถูกต้องและเทคโนโลยีที่ทันสมัย
พันธกิจ
สำนักทะเบียนและวัดผล เป็นหน่วยงานสนับสนุนการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยมีพันธกิจดังนี้
๑. สนับสนุนการบริหารและการดำเนินงานด้านวิชาการ การจัดการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย
๒. การให้การบริการการศึกษาแก่นิสิต อาจารย์ บุคลากร และหน่วยงานของมหาวิทยาลัย
๓. เป็นศูนย์สารสนเทศด้านวิชาการและการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย
๔. เป็นศูนย์กลางงานทะเบียนของมหาวิทยาลัยที่เชื่อมโยงกับวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ ห้องเรียน สถาบันสมทบ และหน่วยวิทยบริการ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
โดยมีเป้าประสงค์หลัก
๑. ให้บริการแก่ผู้รับบริการทุกกลุ่มและทุกระดับ ด้วยไมตรีจิตรมิตรภาพ ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายก่อน
๒. เป็นศูนย์กลางการให้บริการสนับสนุนการบริหารและดำเนินงานด้านทะเบียน การจัดการศึกษา และการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย
๓. เป็นแหล่งสารสนเทศทางวิชาการด้านหลักสูตรและการสอน และสนับสนุนการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย ด้านข้อมูลทะเบียนประวัตินักศึกษา และข้อมูลผลการศึกษาที่เชื่อถือได้ มีความถูกต้อง ทันสมัย ปลอดภัย สามารถให้บริการได้รวดเร็ว ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยครอบคลุมพื้นที่ที่สามารถติดต่อเชื่อมโยงกับเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
๔. การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในระบบทะเบียนให้มีประสิทธิภาพเป็นระดับชั้นนำของประเทศ
๕. เป็นศูนย์ประสานงานด้านทะเบียนและการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย และวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ สถาบันสมทบ และหน่วยวิทยบริการ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
อัตลักษณ์
“บริการดี รวดเร็ว ถูกต้อง โปร่งใส ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส”
หน้าที่และโครงสร้างทั่วไปของสำนักทะเบียนและวัดผล
ในปีการศึกษา ๒๕๕๖ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีส่วนงานรับผิดชอบด้านการจัดการศึกษา ได้แก่คณะ ๔ คณะ ๑ บัณฑิตวิทยาลัย ๑๐ วิทยาเขต ๑๑ วิทยาลัยสงฆ์ ๖ ห้องเรียน ๑๙ หน่วยวิทยบริการ และ ๑ สถาบันสมทบในประเทศไทย ๖ สถาบันสมทบในต่างประเทศ และยังมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมช่วยประสานงานด้านการจัดการศึกษาได้แก่สำนักทะเบียนและวัดผล
โดยเฉพาะสำนักทะเบียนและวัดผลนั้น เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานทะเบียนและสถิติการศึกษาของนิสิตตั้งแต่แรกเข้าจนกระทั้งจบการศึกษา การดำเนินการของสำนักทะเบียนและวัดผลการศึกษาโดยสังเขป ดังนี้คือ
๑. ดำเนินการรับนิสิตใหม่ทุกประเภทตามนโยบายของมหาวิทยาลัย
๒. ดำเนินการจัดทำระเบียนรายวิชา ตารางสอน ตารางสอบ
๓. ดำเนินการเกี่ยวกับการลงทะเบียนของนิสิต
๔. ดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านทะเบียนนิสิต ทั้งนิสิตปัจจุบันและนิสิตเก่า
๕. ดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านประเมินผลการศึกษาของนิสิตตามข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
๖. ดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารทางการศึกษา
๗. ดำเนินการด้านการประมวลผลสถิติข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทะเบียนและสถิติการศึกษาของนิสิต เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย
๘. ดำเนินการประสานงานด้านการเรียนการสอนของนิสิตกับคณะ/ภาควิชา/สาขาวิชา
๙. ดำเนินการจัดการทรัพยากรทางการศึกษา เช่น ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์ช่วยเสริมการสอน เป็นต้น เพื่อการเรียนการสอนและการสอบภายในมหาวิทยาลัย
การจัดหน่วยงานและการบริหารงานของสำนักทะเบียนและวัดผล
ในด้านการบริหารงานของสำนักทะเบียนและวัดผล มีผู้อำนวยการสำนักเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ รองผู้อำนวยการช่วยปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ มีผู้อำนวยการส่วนงาน และมีหัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ ทำหน้าที่กำกับดูแลรับผิดชอบงานให้สำเร็จลุล่วงตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งมีสายงานขึ้นตรงต่อรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มีอัตรากำลังประกอบด้วยบุคลากรประจำ ๑๑ รูป/คน บุคลากรอัตราจ้าง ๕ รูป/คน รวมทั้งสิ้น ๑๖ รูป/คน สำนักทะเบียนและวัดผลได้จัดแบ่งหน่วยงานและอัตรากำลัง เพื่อดำเนินการตามภาระหน้าที่โดยแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนงาน มี ๕ ฝ่าย ดังนี้
๑. ส่วนทะเบียนนิสิต มี ๓ ฝ่าย คือ
๑. ฝ่ายบริหารงานทั่วไป
๒. ฝ่ายรับเข้าศึกษา
๓. ฝ่ายทะเบียนและสถิติการศึกษา
๒. ส่วนประเมินผลการศึกษา มี ๒ ฝ่าย คือ
๑. ฝ่ายการเรียนการสอนและการสอบ
๒. ฝ่ายประมวลผลการศึกษา
การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา
การดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการบริการการศึกษาในงานทะเบียนประวัตินิสิต และการลงทะเบียนเรียนของนิสิตประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้คือ
๑. ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่
· จัดการระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนนิสิต
· แก้ไขข้อมูลการลงทะเบียนเรียนในระบบฐานข้อมูล
· ประมวลผลข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการลงทะเบียนเรียน
· ประสานงานข้อมูลการลงทะเบียนเรียนกับสำนักทะเบียนและวัดผล
๒. คณะ/ภาควิชา/สาขาวิชาต่าง ๆ
· จัดทำทะเบียนประวัตินิสิตและการลงทะเบียนเรียนของนิสิตในคณะเข้าสังกัด
· จัดตารางเรียน ตารางสอบให้สอดคล้องกับจำนวนนิสิตและห้องเรียน
· ประสานงานข้อมูลการลงทะเบียนเรียนกับสำนักทะเบียนและวัดผล
๓. วิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ ห้องเรียน หน่วยวิทยบริการ และสถาบันสมทบ
· จัดทำทะเบียนประวัตินิสิตทั้งหมดเข้าสังกัดส่วนกลาง
· จัดทำระบบฐานข้อมูลนิสิตสถิตินิสิตทั้งหมดเข้าส่วนกลาง และนำเสนอ
คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกอ.)
· จัดทำด้านประมวลผลการศึกษาของนิสิตทั้งหมดตามข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี-โท-เอก ของมหาวิทยาลัยและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
· จัดดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารทางการศึกษาของนิสิตทั้งหมด
วงรอบการดำเนินงาน
ในแต่ละหน่วยงานมีวงรอบการดำเนินการต่อเนื่องตามกำหนดเวลาการลงทะเบียนเรียนของนิสิต ซึ่งในปีหนึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ภาคการศึกษาปกติคือ ภาคแรก และภาคปลาย แต่ละภาคการศึกษามีระยะเวลาเรียนไม่ต่ำกว่า ๑๕ สัปดาห์ และภาคฤดูร้อนเรียนซ่อมเสริมรายวิชาติด F มีระยะเวลาการเรียนการสอน ๑ เดือน
ในวงรอบการดำเนินงาน เริ่มตั้งแต่การรับสมัครนิสิตใหม่ การจัดตารางเรียน การจัดทำระบบฐานข้อมูลรายวิชาที่เกี่ยวกับการลงทะเบียนเรียน การขอเปลี่ยนแปลงการลงทะเบียนเรียน และการยกเลิกการลงทะเบียนเรียนในช่วงระยะเวลาสามสัปดาห์แรกของการเปิดภาคการศึกษาปกติ และหรือในช่วงระยะเวลาสองสัปดาห์แรกของการเปิดภาคศึกษาภาคฤดูร้อน รวมทั้งการจัดทำตารางสอบ การจัดทำรายงาน การลงทะเบียนผ่านระบบเครือข่ายสู่ระบบฐานข้อมูลของสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะเป็นผู้ประมวลเพื่อสรุปยอดของจำนวนนิสิตที่ลงทะเบียนเรียน รายวิชาที่เปิดสอน จำนวนนิสิตที่ลงทะเบียนเรียนในแต่ละรายวิชา/ปฏิบัติการ จำนวนค่าธรรมเนียมการศึกษาที่เก็บได้และอื่น เพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการจัดการศึกษา อาทิเช่น กองกลาง กองแผน คณะ/ภาควิชาต่าง ๆ
ในแต่ละภาคการศึกษากำหนดให้การสอบย่อยและสอบใหญ่ หลังจากการสอบเสร็จสิ้นภายใน ๑๐ วัน อาจารย์ผู้สอนจะใบรายงานผลคะแนนของนิสิตมายังสำนักทะเบียนและวัดผล ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่รวบรวมและนำข้อมูลเข้าระบบฐานข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายไปยังส่วนเทคโนโลยี โดยระบบประมวลและคำนวณผลการเรียนจากคะแนนรายวิชา และรายงานผลการศึกษาในภาคการศึกษานั้น ให้แก่อาจารย์ที่ปรึกษานิสิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับการจัดพิมพ์รายงานต่าง ๆ เช่น เอกสารรายชื่อนิสิตลงทะเบียนเรียน เอกสารรายงานคะแนนของนิสิต และอื่น ๆ จะส่งผ่านระบบเครือข่ายมายังเครื่องพิมพ์ของสำนักทะเบียนและวัดผล และสำนักทะเบียนและวัดจะเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งรายงานต่าง ๆ ดังกล่าวไปให้หน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป